นับตั้งแต่วันที่ 20 มกราคม 2564 เวลา 12.00 น. ตามเวลาของสหรัฐอเมริกา ไม่ใช่แค่ชาวอเมริกาอย่างเดียวที่ได้ประธานาธิบดีคนใหม่ แต่ยังเป็นชาวโลกที่ได้ผู้นำโลกคนใหม่อีกด้วย เราปฏิเสธไม่ได้เลยว่าการที่ประเทศสหรัฐอเมริกาได้ผู้นำคนใหม่ ระเบียบ วิถีปฏิบัติ ของชาวโลกก็จะเปลี่ยนตามไปด้วย
เมื่อ โจ ไบเดิน เข้ามา ระเบียบโลกจะเปลี่ยนไปอย่างไร จากประธานธิบดีคนก่อนอย่างโดนัลด์ ทรัมป์ ในสมัยเขาเป็นประธานาธิบดี เราจะได้ยินคำขวัญที่เรียกว่า make America great again (ทำให้สหรัฐฯจะกลับมายิ่งใหญ่อีกครั้ง) ซึ่งเป็นคำขวัญที่เขาใช้หาเสียงและประสบความสำเร็จมาโดยตลอด หากจำได้ว่าขณะที่เขาดำรงตำแหน่ง นโยบายของเขาจะเพื่อในรักษาผลประโยชน์ของสหรัฐฯ อย่างมากที่สุด โดยไม่คำนึงถึงพันธมิตรเก่าของตนเองอย่างยุโรป หรือชาติต่างๆ ทั่วโลก โดยเขาได้นำสหรัฐฯ ออกจากระเบียบโลกเก่าอย่างที่เคยเป็น และสร้างระเบียบโลกใหม่เป็นของตนเอง ไม่ว่าจะเป็นการเจรจาแบบพหุภาคี เปลี่ยนเป็นเน้นการเจรจาที่เน้นทวิภาคีมากขึ้น การให้ความสำคัญทางเศรษฐกิจมากกว่าความมั่นคงทางการเมือง เน้นนโยบายเพิ่มดุลทางการค้า โดยไม่ยอมให้สหรัฐฯ ขาดดุลการค้า ใช้มาตราการการตั้งกำแพงภาษีที่สูง และที่สำคัญได้ทำสงครามการค้ากับประเทศจีน อย่างที่เราได้เห็นไม่ว่าจะเป็นการออกคำสั่ง แบนแอปพลิเคชันอย่าง Tiktok และ Whatsapp หรือการตั้งกำแพงภาษีกับสินค้าจีนที่สูงขึ้น

นโยบายของทรัมป์ดูเหมือนว่าไม่เกี่ยวกับประเทศไทยโดยตรง โดยมองผิวเผินจะพุ่งเป้าไปที่จีนมากกว่า แต่อย่าลืมว่าตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา ประเทศไทย เป็นประเทศที่ได้ดุลทางการค้าจากสหรัฐฯ มาตลอด ทำให้ประเทศไทยได้เป็นเป้าของสหรัฐฯ ในการพยายามลดการขาดดุลทางการค้ากับประเทศไทย โดยในเดือนตุลาคม 2563 ประธานธิบดีทัมป์ ได้ลงนามคำสั่ง ตัดระงับมาตรการสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากร (GSP) โดยมีผลในปี 2564 ซึ่งการตัด GSP ได้ส่งผลกระทบต่อประเทศไทยอย่างมาก ทั้งภาคแรงงาน และภาคการเกษตร และภาคการส่งออก โดยทั้งหมดคิดเป็นมูลค่าเกือบ 40,000 ล้านบาท ส่งผลให้สินค้าไทยได้รับผลกระทบอย่างมาก ไม่ว่าจะเป็นชิ้นส่วนรถยนต์ ชิ้นส่วนเทคโนโลยี รวมถึงสินค้าทางการเกษตรอย่าง มะม่วง และอาหารทะเล ล้วนส่งผลกระทบอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
นโยบายของประธานาธิบดีคนใหม่จะส่งผลต่อโลกและประเทศไทยอย่างไร?
สิ่งที่เห็นได้อย่างชัดเจนตั้งแต่ที่ ไบเดิน ได้หาเสียงไว้ จะเห็นได้ว่านโยบายของเขาจะพุ่งเป้าไปที่ การรักษาสิ่งแวดล้อม ความเป็นประชาธิปไตย การให้เสรีภาพแก่ประชาชน การเจรจาแบบพหุภาคี การรวมกลุ่มเป็นพันธมิตรบนเวทีโลก และเน้นการเปิดตลาดเป็นการค้าเสรี ลดกำแพงภาษี โดยจะไม่นำภาษีมาเป็นมาเป็นตัวกีดกันทางการค้า แต่จะเน้นเรื่องสิทธิมนุษยชน การละเมิดทรัพย์สินทางปัญหา การรักษาสิ่งแวดล้อม รวมถึงสิทธิแรงงาน มาเป็นสิ่งกีดกันทางการค้าแทน หลังจากที่เขาได้รับตำแหน่งอย่างเป็นทางการ เขาได้ลงนามคำสั่งทันที 17 ฉบับ ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นคำสั่งในการยกเลิกคำสั่งของโดนัลด์ ทัมป์ ไม่ว่าจะเป็นการกลับเข้าร่วมข้อตกลง Paris Climate Accord ที่เป็นข้อตกลงในการลดโลกร้อนอย่างเร่งด่วน คำสั่งที่รัฐบาลเข้มงวดกับสิทธิมนุษยชน การเหยียดชนชาติ เพศ และสีผิว

แน่นอนว่ารัฐบาลไทยต้องพยายามแก้ไขปัญหาเหล่านี้ โดยเฉพาะสิทธิแรงงาน การลดปริมาณคาร์บอนที่เกิดจากการเผาเศษซากทางการเกษตร การปล่อยมลพิษจากโรงงานอุตสาหกรรม การลดโลกร้อน สิทธิมนุษยชน เสรีภาพการแสดงความคิดเห็นของประชาชน รวมทั้งความโปร่งใสธรรมาภิบาล นอกจากนี้ ยังไม่รวมถึงการที่ไบเดิน อาจจะกลับเข้ามาสู่ข้อตกลง CPTPP ที่สหรัฐฯ เคยเป็นผู้ริเริ่มไว้ในสมัยบารัก โอบามา ซึ่งข้อตกลงนี้ อาจทำให้เราเสียเปรียบ เวียดนาม สิงค์โปร์ มาเลเซีย บรูไน ซึ่งประเทศเหล่านี้จะไม่ต้องเสียภาษีนำเข้า เพราะอยู่ในข้อตกลง CPTPP อยู่แล้ว หากประเทศไทยยังคงไม่ปรับตัว และแก้ไขปัญหาเหล่านี้ จะทำให้เราโดนตัดสิทธิประโยชน์ทางการค้าขายกับสหรัฐฯ ซึ่งทั้งภาคการเกษตร ภาคอุตสหกรรม จะได้รับผลกระทบและสูญเสียรายได้อย่างมหาศาลแน่นอน