เรื่องเล่าเกษตรกร ตอนที่ 6 “อยากปลูกผักอินทรีย์ ฟังทางนี้ก่อน”

0
448

สวัสดีค่ะ กลับมาพบกันอีกแล้วนะคะ หัวข้อน่าตื่นเต้นมากเลยใช่มั้ยคะเพราะวันนี้เรามีเรื่องราวของพี่อุดมและพี่อัมพร เจ้าของเพจ ผัก และดอกไม้ออร์แกนิครับประทานได้ By คนพันธุ์เหน่อ จังหวัดสุพรรณบุรี มาฝากค่ะ 

ทีมงานรีคัลท์เยี่ยมชมแปลงสมาชิกในกลุ่มของพี่อุดมและพี่อัมพรค่ะ

ช่วงนี้กระแสพืชผักอินทรีย์มาแรง รวมถึงคนเมืองหันมาสนใจที่จะมาทำการเกษตรมากขึ้น และเจ้าผักทั้งหลายก็เป็นพืชยอดฮิตสำหรับผู้ที่กำลังจะเริ่มปลูก ไม่ว่าจะเป็นผักสลัด ต้นอ่อนทานตะวัน ผักโขม แต่กว่าจะมาเป็นฟาร์มผักอินทรีย์ที่สร้างรายได้ทั้งครอบครัว รวมถึงเกิดการรวมกลุ่มของคนในชุมชนนั้น พี่อุดมและพี่อัมพรต้องผ่านอะไรมาบ้างนั้น วันนี้เราจะมาเล่าให้ฟังค่ะ 

แรกเริ่มเดิมทีพี่อุดมเล่าว่า เป็นเกษตรกรปลูกข้าวมาก่อน นอกจากปลูกข้าวก็รับจ้างฉีดยาฆ่าแมลงให้ชาวนา จุดเปลี่ยนที่ตัดสินใจมาทำเกษตรอินทรีย์พี่อุดมบอกว่า “ขึ้นจากนามาก็อ้วก อ้วกเป็นสิบคน ทีมงานไม่ไหว” เป็นเพราะสารเคมีที่พี่อุดมรับจ้างฉีดนั้นรุนแรงเกินไป พี่อุดมเลยหักดิบและเลิกทำการเกษตรแบบใช้สารเคมีไปเลย แต่พี่อุดมก็ไม่ได้มองว่าการใช้สารนั้นเป็นผู้ร้าย เป็นคนผิด เพียงแต่ตัวพี่อุดมเองนั้นรับจ้างฉีดสารเคมีอยู่นาน จึงรู้สึกขยาดไปก็เท่านั้นเองค่ะ 

ผักสลัดหน้าตาสวยๆทั้งนั้นนนนนน

ทั้งสองคนเล่าว่าในช่วงแรกที่หันมาทำผักแบบไร้สารเคมีผลผลิตได้น้อยมาก ไม่ได้เป็นอย่างที่ใจหวังไว้สักเท่าไหร่ พี่อัมพรยกตัวอย่างและเล่าให้เห็นภาพแบบติดตลกว่า “พี่ตัดผักขาย จ้างรถจะไปส่งก็เขินรถเขา ผักได้แค่ไม่กี่ถุง ใส่รถมอเตอไซค์ไปก็ได้” แต่ก็มีรายได้ทางอื่นเช่นขายของที่ตลาดนัด ทำนา เพราะรายได้จากการปลูกผักไร้สารทางเดียวไม่สารถเลี้ยงครอบครัวพี่อัมพรได้ในขณะนั้น พี่อัมพรบอกว่ากว่าจะลงตัวจะได้ผลผลิตแบบเลี้ยงตัวเองได้มั่นคงใช้เวลาถึง 2-3 ปี ทั้งให้เราปรับปรุงตัวเองแล้วก็ให้พืชดูแลกันเองเพราะที่แปลงเน้นปลูกแบบผสมผสาน โดยให้ปลูกพืชผักหลายชนิดหมุนเวียนกันไป 

เรื่องการหาตลาด ทางเราฟังแล้วออกจะคิดว่าพี่อุดมและพี่อัมพรออกแนวบ้าระห่ำไปซักหน่อยค่ะ เพราะทั้งสองคนเข้ากรุงเทพ 5 วันต่อสัปดาห์ด้วยเงินเก็บของตัวเอง ออกบูธขายผักเพื่อให้เป็นที่รู้จัก พี่อัมพรเล่าว่าเงินเก็บแทบไม่เหลือแล้วค่ะ ท้อมากในช่วงเวลานั้น แต่เพราะความตั้งใจของพี่อุดมและความเชื่อใจของพี่อัมพร ที่ต้องทำให้คนรู้จักแปลงผักของตัวเองให้ได้ เพราะนอกจากแปลงของตัวเองยังมีลูกกลุ่มอีกในตอนนั้น และนั่นก็ถือเป็นจุดที่ทำให้แปลงผักอินทรีย์ของพี่ทั้งสองมีลูกค้าในตลาดเฉพาะ เช่น โรงแรม ร้านอาหารของเชฟที่มีชื่อเสียง เช่น เชฟตาม ทอปเชฟไทยแลนด์ เชฟโบว์ เชฟระดับมิชลินสตาร์ 

ดอกไม้สวยๆ เมื่อวางบนจานอาหารก็สามารถเพิ่มมูลค่าของจานได้

แต่พี่ทั้งสองก็มีคำเตือนสำหรับคนที่คิดอยากจะปลูกผักนะคะ คือ “อย่าเน้นคิดแค่ว่าจะส่งขายที่กรุงเทพฯ แต่ควรปลูกอะไรที่เรากินได้ก่อน ให้คนแถวบ้านกินได้ด้วย” เพราะถ้าเกิดเหตุการณ์ไม่คาดคิด ยกตัวอย่างเช่น COVID-19 ร้านอาหารหรือโรงแรมต่างๆ ออเดอร์ลดลงเราก็ยังสามารถเอามาขายที่ตลาดแถวบ้านได้ และอย่าเลือกปลูกเฉพาะผักที่ง่ายหรือผักสลัด เพราะคนเราไม่ได้รับประทานผักสลัดกันทุกวัน ควรมีผักไทยไว้ด้วย และถ้าเราเริ่มมีตลาดมากขึ้นการรวมตัวกันของสมาชิกเพื่อผลิตผักให้ได้ตามปริมาณที่ต้องการก็จำเป็นอย่างยิ่ง เพราะนอกจากปริมาณและความหลากหลายแล้วยังป้องกันปัญหาที่คาดไม่ถึงเช่น น้ำท่วมหรือแมลงที่เข้ามาทำลาย ถ้าผักที่เราปลูกเกิดความเสียหายสมาชิกในกลุ่มก็ยังสามารถส่งผักให้ลูกค้าได้ 

การเพาะเมล็กผักเป็นงานที่ผู้สูงอายุในกลุ่มสามารถทำได้

และที่พี่อัมพรเน้น เน้นย้ำมากๆเลยคือ “อย่าลาออกจากงานประจำเพื่อมาทำเกษตรเด็ดขาด” พี่อัมพรพูดเสียงแข็งจนเราอดหัวเราะไม่ได้เลยค่ะ เพราะพี่อัมพรบอกว่า มันเสี่ยงเกินไป และอย่าทำเยอะ “มี 1 คนทำ 1ไร่ เป็นครอบครัวทำ 3 ไร่” ถ้าอยากทำจริงๆให้ลองเป็นเกษตรกรวันหยุดหรือปลูกอะไรที่เรากินเอง ทดลองดูสัก 6 เดือน ว่ารับความเสี่ยงได้มั้ยสามารถจัดการแปลงและดูแลได้อย่างทั่วถึงหรือไม่  และที่สำคัญต้องรู้ต้นทุนของการปลูกผัก เพราะผักอินทรีย์ไม่ได้หมายความว่าจะทำให้ผักราคาแพงขึ้น แต่เป็นการปลูกผักเพื่อตัวคนปลูกเองเท่านั้น เรื่องราคา เรื่องตลาดนั้นเราต้องหาตลาดเอง นอกจากนี้โรงแรมหรือร้านอาหารก็ล้วนแต่มีระเบียบข้อบังคับต่างกันไป เราก็ควรจะศึกษา ทั้งวิธีการทำผักแบบปลอดภัย ผักอินทรีย์ ถึงแม้ว่าขั้นตอนการได้รับรองมาตรฐานอาจจะยุ่งยากไปสักหน่อยสำหรับเกษตรกร แต่ถ้าเรามองว่ามันคือโอกาสที่จะทำให้เราสามารถขายได้เราก็ควรต้องมีไว้ค่ะ 

พี่อุดม-พี่อัมพร เจ้าของแปลงใจดีและคุยเก่งมากค่ะ

และเมื่อเราถามถึงความใฝ่ฝันที่คิดไว้ในอนาคตคืออะไร พี่อุดมและพี่อัมพรบอกว่า อยากไปสอนในโรงเรียนค่ะ เพราะพี่อัมพรบอกว่าสมัยก่อนเราจะได้เรียนวิชาเกษตรกรรมแต่ในสมัยนี้โรงเรียนที่สอนวิชาพวกนี้เป็นโรงเรียนเอกชนค่าเทอมแพง แต่โรงเรียนแถวบ้านเด็กๆไม่ได้เรียนด้านการเกษตรแล้ว ตัวผู้เขียนเองก็คิดว่าน่าสนใจค่ะ เพราะจริงๆอาจจะไม่ถึงกับสอนให้ทำการเกษตรเป็นอาชีพ เพียงแต่รู้ว่าเราสามารถรับประทานผักอะไรได้บ้าง หน้าตาผักและดอกไม้แต่ละชนิดเป็นอย่างไร มีประโยชน์อย่างไรก็ถือว่าไม่เลวเลยนะคะ 

สำหรับใครที่สนใจผักและดอกไม้อินทรีย์ของพี่อุดมและพี่อัมพร สามารถติดต่อได้ที่เบอร์ 081-7221912 หรือเฟซบุค https://www.facebook.com/konpanner ทีมงานรีคัลท์ขอบคุณสำหรับเรื่องราวและข้อคิดดีๆที่มาแบ่งปันให้ทีมงานรีคัลท์ฟังค่ะ 
____________________________________________
กด ที่นี่ เพื่อเข้าใช้งานแอปรีคัลท์ฟรี !!!!
มีข้อสงสัยการใช้งานแอป สามารถสอบถามได้ที่ไลน์รีคัลท์ @ricult
เฟซบุค https://www.facebook.com/RicultThailand
หรือโทร 0801366618 เวลา 10.00-18.00 ยกเว้นวันหยุด

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่